ประเพณี ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ ความเชื่อของประชาชนชาวอีสาน
บุญฮีต ๑๒ เป็นการรวมคำ 2 คำ ได้แก่ ฮีต หรือ จารีต มีความหมายว่า ความประพฤติดี ธรรมเนียม ประเพณี ส่วนคำว่า ๑๒ หมายถึง จำนวนเดือน ดังนั้นคำว่า ฮีต ๑๒ จะหมายถึงประเพณีภาคอีสานที่ปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้ง ๑๒ เดือน ในรอบ 1 ปี ส่วนคำว่า คอง ๑๔ จะมีความหมายว่า ครรลอง หรือคลอง มีทั้งหมด 14 ข้อ จะมุ่งเน้นไปทางศีลธรรม ประเพณีที่ถูกผิดมากกว่าด้านอาชีพ
ฮีตสิบสอง (ประเพณี 12 เดือน)
อีกทั้ง ในสมัยโบราณคนอีสานมีความเชื่อว่า หากต้องการให้การปกครองบ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุข ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณี ขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ตามความเชื่อของ ฮีต 12 คอง 14 ซึ่งฮีตสิบสองนั้นนอกจากจะเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาแล้ว ยังเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน ครอบครัว ตลอดทั้งคนรู้จักได้มาร่วมทำบุญกันในทุก ๆ เดือนของปี ยกตัวอย่างเช่น

เดือนเจียง (เดือนอ้าย)
“นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแกนและผีต่างๆ ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรม มันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็นสิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว “
บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ เพราะถือว่าได้บุญมาก

เดือนสิบสอง
“ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูชา ฝูงนาโค นาคเนาว์ในพื้น ชื่อว่าอุชุพะนาโค เนาว์ ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสะการ จงทำให้ทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาดอม ชื่นชมกันเล่น กลางเว็นกลางคืนให้ระงมกันขับเสพ จึงสิสุขอยู่สร้างสบายเนื้ออยู่เย็น ทุกข์ทั้งหลาย หลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้ ไผผู้ทำตามนี้เจริญขึ้นยิ่งๆ ทุกสิ่งบ่ไฮ้ ทั้งข้าวหมู่ของ กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้ มีแต่สุขีล้นครองคน สนุกยิ่ง อดในหลิงป่องนี้เด้อเจ้าแก่ชรา “
เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำบุญกองกฐิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกัน ตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัย อยู่ตามริมฝั่งน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค ดังคำกลอนข้างต้น
อีกทั้งในสมัยก่อนยังถือว่าฮีต ๑๒ เป็นประเพณีที่สำคัญที่หากใครไม่ไปร่วมงานบุญ หรือไม่ไปช่วยงานก็จะถูกสังคมรังเกียจ และไม่คบค้าสมาคมด้วย ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะช่วยให้ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านเกิดความสนิทสนมและรักใคร่กลมเกลียวกันมากขึ้นนั่นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ประตูสู่อีสาน